ในอดีตที่ผ่านมาวิชาภาษาอังกฤษกับคนที่เรียนกฎหมายดูจะไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ บางครั้งเมื่อเห็นเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษเหมือนเห็นอะไรบางอย่างที่ดูแปลกประหลาดไม่ค่อยอยากจะจับต้องเท่าไหร่ พอเห็นข้อสอบภาษาอังกฤษบางคนถึงขนาดยอมทิ้งคะแนนไปฟรีแล้วค่อยไปเสี่ยงดวงกับข้อสอบภาษาไทยส่วนที่เหลือ แต่บางคนก็มีความพยายามที่น่าชื่นชม พยายามจับคำศัพท์ต่างๆ ที่ขณะนั่งอยู่ในห้องสอบจะพอนึกขึ้นได้มารวบรวมและเรียบเรียงให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ข้อสอบต้องการมากที่สุด บางคนพอเห็น “ฝรั่ง” เดินมา ถ้ามีทางเลี่ยงก็พยายามเดินไปอีกทาง หรือไม่เช่นนั้นก็พยายามไม่สบสายตาด้วย แม้ว่าสถานการณ์แบบนี้ยังคงพบเห็นได้อยู่ แต่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วง
หลังๆ เด็กรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยและมีความกล้าในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกวัน ในอนาคตเราคงมีนักกฎหมายที่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นอย่างแน่นอน
ในฐานะของผู้ที่ศึกษาวิชากฎหมายเอง ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการศึกษากฎหมายได้เป็นอย่างดี เพราะโลกเราทุกวันนี้แม้ว่าจะมีพรมแดนทางกายภาพที่แบ่งแต่ละประเทศออกจากกัน แต่ใน
แง่ของความคิดแล้วพรมแดนทายกายภาพเหล่านี้แทบจะเป็นสิ่งลวงตาที่ไม่มีความหมาย ความคิดที่เกิดขึ้นใหม่แม้แต่ในวงการกฎหมายเดินทางไปตามประเทศต่างๆ เร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก ผลของการ
เดินทางของความคิดและการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ต่างๆ ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เราเคยร่ำเรียนมาสมัยเมื่อครั้งศึกษาวิชากฎหมายใหม่ๆอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้วในปัจจุบัน
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้คือเราเคยเรียนว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) และประเทศเช่นอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้ระบบ
กฎหมายจารีตประเพณี (Common law) กฎหมายของประเทศไทยเราได้รับอิทธิพลจากประเภทภาคพื้นยุโรปเช่นประเทศเยอรมัน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่อิทธิพลของการพัฒนาประมวลกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่น ความรู้เหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่ากฎหมายของประเทศในระบบกฎหมายหนึ่งน่าจะมีความแตกต่างกับกฎหมายในอีกระบบหนึ่งมาก ข้อมูลนี้อาจจะเป็นจริงในอดีต แต่หากเรามองลึกลงไปในพัฒนาการทางกฎหมายยุคปัจจุบัน ความแตกต่างนี้มีมากเฉพาะในแง่ของแบบพิธีทางกฎหมาย แต่แนวความคิดต่างๆ ที่แฝงอยู่ไม่แตกต่างกันเท่าใด
องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็มีความพยายามที่จะทำให้กฎหมายของประเทศต่างๆ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นความพยายามของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law –UNCITRAL) ซึ่งได้ระดมสมองของนักกฎหมายทั้งฟาก Civil Law และฝั่ง Common Law มาร่วมด้วยช่วยกันคิดช่วยกันร่างเอกสารทางกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศ (Model law on international commercial arbitration)กฎหมายแม่แบบว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Model law on electronic commerce) กฎหมายแม่แบบทั้งสองฉบับล้วนเป็นที่มาของกฎหมายไทยที่เราๆ ท่านๆ พบเห็นในประเทศไทยซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
แม้แต่ในการศึกษาอบรมกฎหมายเราก็มีการส่งผู้พิพากษาและข้าราชการไปเข้ารับการฝึกอบรมยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ท่านเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายพินิจ สุเสารัจ ได้มีดำริให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการในสำนักงาน
ศาลยุติธรรมให้มากที่สุดเพื่อให้องค์กรมีความพร้อมที่จะดำรงอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุนี้เองที่เป็นที่มาที่ทำให้เกิดเป็น Legal English 4 U ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้
สิ่งต่างๆ ที่นำมากล่าวถึงใน Legal English 4 U นี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อยแต่ขอให้ท่านอย่าเคร่งเครียดนักกับการอ่านเอกสารชุดนี้ ขอให้นึกว่าเรากำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนเกร็ดข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เสียมากกว่าดังนั้นไม่ว่าถ้อยคำที่ใช้หรือการนำเสนอหลายส่วนจะพยายามเสนอในลักษณะของการพูดคุยมากกว่าจะเป็นการเรียนการสอนที่คร่ำเคร่ง โดยพยายามจะเคลือบยาขมด้วยน้ำตาลให้มากที่สุดเพื่อจะได้ทำให้การทานยาขมเม็ดนี้มีความคล่องคอมากขึ้น สำหรับฉบับแรกนี้เนื้อที่เหลือจำกัดจึงขอเริ่มด้วยการกล่าวถึงเกร็ดที่เกี่ยวกับประเภทของกฎหมายกฎหมายก่อน
Types of Laws
Substantive versus procedural law.1 It is important
at the outset to differentiate between the substance of
the law and the process or procedures of the law. The
former—that is, substantive law – is concerned with
the content, or substance, of the law. In criminal law,
for example, the substantive law will define what kind
of behavior is considered to be antisocial and
prescribe the kind of punishment that will be
imposed for engaging in it. The substantive law will
clearly define the elements of the crime … and the
range of punishment (five to ten years’
imprisonment) that may be handed out upon
conviction. …
ประเภทของกฎหมาย
กฎหมายสารบัญญัติกับกฎหมายวิธีสบัญญัติ ถือเป็นความสำคัญที่จะ
แยกความแตกต่างเสียตั้งแต่เริ่มแรกระหว่างสาระแห่งกฎหมายกับ
ขั้นตอนหรือกระบวนการแห่งกฎหมาย สิ่งแรกอันได้แก่กฎหมายสาร
บัญญัติเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาหรือสารัตถะของกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
ในกฎหมายอาญา กฎหมายสารบัญญัติจะนิยามพฤติกรรมที่ถือว่าเป็น
ปฏิปักษ์ต่อสังคมและบัญญัติประเภทของโทษที่จะลงสำหรับการ
กระทำการเหล่านั้น กฎหมายสารบัญญัติจะนิยามอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับ
องค์ประกอบของความผิดและขอบเขตของโทษ (จำคุกห้าปีถึงสิบปี)
ที่จะลงเมื่อมีคำตัดสินว่ามีความผิดอาญา
Substantive law กฎหมายสารบัญญัติ
Procedural law กฎหมายวิธีสบัญญัติ
Prescribe บัญญัติ
Punishment โทษ
Element องค์ประกอบ
Crime ความผิดอาญา
Imprisonment การจำคุก
Conviction ตัดสินว่ามีความผิดอาญา
การทำความเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษกฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ยากเย็นนักหากเราค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา คำแรกคำว่า “substantive law” นั้นจะเห็นได้ว่าโครงสร้างของคำคล้ายกับคำว่า “substance” ซึ่งหมายถึง สาระหรือเนื้อหาของเรื่องที่กำลังกล่าวถึง เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นคำว่า “substantive” ซึ่ง
เป็นคำ Adjective จึงหมายถึงความเกี่ยวเนื่องหรือความสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นสาระหรือเนื้อหาของเรื่อง การกล่าวถึง “substantive law’ จึงหมายถึงกฎหมายใดๆ ก็ตามที่กำหนดหรือบัญญัติเกี่ยวกับสาระต่างๆ ของสิทธิหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาแห่งสิทธิว่าผู้มีสิทธิจะสามารถเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินอย่างใดบ้าง ตลอดจนวิธีการได้มาหรือเสียไปซึ่งสิทธินั้นๆคำอีกส่วนหนึ่งซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของประเภทกฎหมายคือคำว่า “Procedural law” หากสังเกตโครงสร้างของคำจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับคำว่า“Procedure” ซึ่งหมายถึงกระบวนการหรือขั้นตอน เมื่อนำมากล่าวถึงในฐานะที่เป็นประเภทหรือลักษณะของกฎหมายจึงทำให้มีความหมายเป็นกฎหมายที่
กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการหรือขั้นตอนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลซึ่งเรียกว่าเป็น “กฎหมายวิธีสบัญญัติ” สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับศัพท์คำอื่นขอยกไปกล่าวต่อในคราวหน้านะครับ แล้วพบกันในฉบับต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น