ฤดูออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้(และชะตากรรมของนศ.อีกหลายคน) กำลังจะมาถึงอีกครั้ง ผมถือเป็นคติว่า “การออกข้อสอบที่ไม่ดีเป็นบาปอย่างยิ่ง” ซึ่งตัวผมเองได้ทำบาปมามากในเรื่องนี้ จึงใคร่ขอเสนอประสบการณ์ต่อเพื่อนคณาจารย์ไว้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อท่านจะได้ไม่ทำบาปซ้ำกับที่ผมได้เคยทำ ในความเห็นของผมข้อสอบที่ดีควร:
1) สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน ไม่กำกวม
“หากเด็กมันจะตกขอให้มันตกเพราะมันไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาที่มึงสอน อย่าให้มันตกเพราะมันไม่เข้าใจข้อสอบที่มึงออก” (ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ชัดเจนและไม่กำกวมเลย J และเป็นคำกล่าวของอาจารย์ของ ดร.ชาญชัยฯ ซึ่งท่านได้นำมาเล่าให้ผมฟังอีกต่อหนึ่ง) การใช้ภาษาในโจทย์ปัญหา ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะสิ่งที่เราเข้าใจกับสิ่งที่ศิษย์เข้าใจอาจไม่ตรงกัน สังเกตได้ว่าอาจารย์ที่(ดูเหมือนว่า)เก่งมากๆ จะมีปัญหามากที่สุดในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าคนเก่งที่แท้จริงต้องทำให้คนไม่เก่งเข้าใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตรงกันข้าม ผมระวังเรื่องนี้ที่สุด และเชื่อมั่นในตนเองว่าผมมีทักษะในการสื่อสารดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่ไม่น่าเชื่อว่าทุกครั้งจะมีนักศึกษาประมาณ 10-20% ต้องได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรเป็นเพราะไม่เข้าใจโจทย์ปัญหาอัตนัยที่ผมถาม ส่วนโจทย์ปรนัยนั้นเชื่อว่าก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ตรวจจับได้ยาก บางครั้งนศ.ถามจึงทราบว่าโจทย์มีความกำกวม บางครั้งผมต้องยกประโยชน์ให้นศ.เพราะตีความแล้วตอบได้มากกว่า 1 ข้อ
2) ควรเป็นภาษาไทย (ยกเว้นวิชาภาษาต่างประเทศ)
มทส.ไม่ได้จัดให้มีการสอบ TOEFL เพื่อคัดนักศึกษาเข้าม.จึงอาจไม่เหมาะที่จะออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ เพราะแม้ออกเป็นภาษาไทยนศ.ยังตีความผิดหรือมีความกำกวม (ดังที่ผมประสบเนืองๆ ) คงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งหาก นศ.ต้องตก(และออก)เพราะไม่เข้าใจโจทย์ข้อสอบภาษาอังกฤษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับป.ตรี) ว่าไปแล้วแม้แต่การใช้ภาษาไทยยากๆ ที่พวกเด็กๆ ต้องเขย่งเท้าอ่านก็พึงละเว้น เช่น คำว่า บริบท(เนื้อความ) บูรณาการ(เชื่อมโยง) พิสัย(ช่วง) กอปรกับ(ประกอบกับ) เป็นต้น ควรใช้ภาษาง่ายๆ ลุ่นๆ ที่เข้าใจง่ายให้มากที่สุด
3) มีข้อมูลให้ครบพอที่จะทำข้อสอบได้
สองวิธีที่จะตรวจจับผิดตนเองในประเด็นนี้ได้คือ ให้เพื่อนคณาจารย์ลองทำดู และ ลองทำดูด้วยตนเอง โดยควรทิ้งโจทย์ไว้สัก 2-3 วันจึงลองทำจะเป็นการดี หากลองทำทันทีจะมองข้ามข้อบกพร่องได้ง่ายเพราะความคุ้นเคย การให้ข้อมูลไม่ครบถือเป็นบาปหนัก เพราะนศ.อาจทำไม่ออกและเสียเวลากับข้อนั้นนานมาก เลยพลอยทำให้ทำข้ออื่นไม่ทันไปด้วย นศ.หลายคนอาจต้องตกออกเพราะเรื่องนี้ก็เป็นได้ ซึ่งอาจารย์ผู้ออกอาจต้องตก__ก?)
4) ควรลองทำข้อสอบด้วยตนเอง
นักการศึกษาได้วิเคราะห์ไว้ว่าผู้ออกควรทำเสร็จภายในหนึ่งในสามของเวลาที่ให้นศ.ทำ ซึ่งข้อสอบอัตนัยของผมที่ผมว่า ”ง่าย” แล้วนั้นส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ (ผู้สอนแท้ๆ ยังใช้เวลานานแล้วจะให้ผู้เรียนทำเสร็จในเวลาได้อย่างไร?)
5) ควรให้เพื่อนคณาจารย์ในสาขาช่วยอ่านโจทย์
ผมขอฝากท่านหัวหน้าสาขาว่าสมควรกำหนดให้คณาจารย์ในสาขาถือเป็นแนวปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าจะได้รับคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์(และเป็นบุญ)มากจากเพื่อนคณาจารย์ เช่น กำกวม ยากไป ง่ายไป มากไป น้อยไป ข้อมูลไม่พอ แต่ ต้องเปิดกว้างยอมรับคำวิจารณ์ ไม่เช่นนั้นคงฝืดพอสมควร ถือว่าเขามาช่วยชี้ช่องทางสู่สวรรค์ให้ก็แล้วกัน J
6) ตรงวัตถุประสงค์ของวิชา
การสอนเพื่อให้นศ.ได้ทักษะและความรู้ตรงวัตถุประสงค์รายวิชานับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การสอบถือเป็นกุศโลบายให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ตรงตามวัตถุประสงค์รายวิชา (ซึ่งได้แจ้งไว้แล้วในเค้าโครงรายวิชา) ข้อสอบที่ออกได้ตรงวัตถุประสงค์ของวิชาจึงนับเป็นกระบวนการประกันคุณภาพที่สำคัญยิ่ง
7) อยู่ในประเด็นที่สอนหรือได้มอบการบ้าน
ไม่ออกนอกเรื่อง หรือ ตีความเอาเองว่าเกี่ยวพันกับสิ่งที่สอน แล้วเชื่อว่านศ.จะสามารถตีความได้เหมือนเรา หากเป็นการทำการบ้านก็คงพอใช้กลวิธีนี้ได้ แต่นี่เป็นการสอบหากนศ.พลาดในการเชื่อมโยงจะเสียคะแนนมาก นอกเสียจากว่าได้กำหนดเป็นวัตถุประสงค์รายวิชาไว้แล้วว่า”ต้องสามารถตีความและเชื่อมโยงความรู้ไปสู่ประเด็นอื่นๆได้ด้วย”
8) ครอบคลุมหัวข้อที่สอน (ซึ่งทุกข้อตรงวัตถุประสงค์รายวิชา)
จะทำให้การวัดผลแม่นตรง เช่น หากออกเพียง 20% ของหัวข้อเท่านั้น นศ.คนหนึ่งเก็งข้อสอบ 20% มาตรงพอดีก็อาจได้เต็ม ส่วนอีกคนหนึ่งดูมา 80% ที่เหลือ กลับได้ศูนย์เป็นต้น เท่าที่สังเกตดู (รวมทั้งสังเกตตนเอง) อาจารย์มักชอบออกข้อสอบในหัวข้อที่ตนชอบ รัก สนใจ ถนัด ส่วนหัวข้อที่ตนไม่ชอบ ไม่ถนัด ก็มักไม่ออก แต่นศ.ไม่อาจเดาได้ว่าผู้สอนถนัดอะไร
9) ไม่ยากหรือง่ายเกินไป
การออกที่ยากหรือง่ายเกินไป ไม่อาจวัดความรู้นศ.ได้อย่างแม่นตรงในเชิงสถิติ ทำให้มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานกว้างหรือแคบกว่าเป็นจริง หรือคะแนนจะมีความเบ้มากเกินไป
10) ปริมาณไม่มากหรือน้อยเกินไป
การออกมากไปจะทำให้ผู้สอบลนลานจนทำข้อสอบพลาด ทั้งที่มีความสามารถพอทำได้หากมีเวลาพอสมควร การออกน้อยเกินไปทำให้ผู้ที่ทำเสร็จเร็วออกจากห้องสอบก่อนเวลามาก ยังผลให้เสียขวัญ กำลังใจ และสมาธิต่อผู้สอบอื่น และยังทำให้การวัดผลไม่เที่ยง เพราะอาจทำได้คะแนนเท่ากันแต่ใช้เวลาทำแตกต่างกันมากเป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น